Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

สัตว์โลกน่าพิศวง หวีวุ้นผิวปุ่ม ร่างกายมีรูทวารเฉพาะตอนจะขับถ่าย


หวีวุ้นผิวปุ่มไม่ใช่แมงกะพรุน แต่เป็นสัตว์ในไฟลัมทีโนฟอรา (Ctenophora)
หวีวุ้น (Comb jelly) ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่ภายนอกดูคล้ายแมงกะพรุนนั้น บางชนิดมีโครงสร้างร่างกายที่น่ามหัศจรรย์ โดยล่าสุดนักชีววิทยาค้นพบว่า "หวีวุ้นผิวปุ่ม" (Warty comb jelly) เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่ไม่มีช่องทางสำหรับถ่ายอุจจาระอย่างถาวร แต่รูทวารจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายต้องการขับถ่ายของเสีย และเมื่อเสร็จธุระแล้วรูทวารชั่วคราวก็จะหายไปอย่างไร้ร่องรอย

หวีวุ้นกับแมงกะพรุนนั้นที่จริงเป็นสัตว์คนละชนิดกัน โดยหวีวุ้นทั่วไปมีปาก รวมทั้งทางเดินอาหารแบบผ่านตลอด และรูทวารสำหรับขับถ่าย หวีวุ้นบางชนิดมีหลายรูทวาร แต่หวีวุ้นผิวปุ่มซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mnemiopsis leidyi ไม่มีรูทวารปรากฏให้เห็นในเวลาปกติ แม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามส่องกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงค้นหาอย่างละเอียดแล้วก็ตาม

ดร. ซิดนีย์ แทมม์ จากห้องปฏิบัติการชีววิทยาทางทะเลในเมืองวูดส์โฮล รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งนี้ลงในวารสาร Invertebrate Biology

โดยระบุว่าหวีวุ้นผิวปุ่มไม่มีช่องทางเชื่อมต่อถาวรระหว่างทางเดินอาหารกับร่างกายส่วนหลังแบบสัตว์ทั่วไป แต่เมื่อของเสียในร่างกายสะสมเพิ่มขึ้น บางส่วนของทางเดินอาหารจะพองตัวขึ้นเหมือนลูกโป่ง และขยายไปจนจรดกับเซลล์ของผิวชั้นนอกสุดหรือชั้นหนังกำพร้าจากนั้นเซลล์ทางเดินอาหารจะรวมตัวเข้ากับเซลล์หนังกำพร้า ก่อตัวเป็นช่องเปิดให้สามารถขับถ่ายของเสียออกมาได้ในชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่กระบวนการนี้จะเดินย้อนกลับและทำให้รูทวารที่เกิดขึ้นหายไปในทันที

การที่ทางเดินอาหารและผิวหนังชั้นนอกของหวีวุ้นบางมาก โดยเกิดจากการเรียงตัวของเซลล์เพียงเซลล์เดียว ทำให้กระบวนการสร้างและสลายรูทวารเป็นไปได้ง่าย หวีวุ้นยังเป็นสัตว์ที่ขับถ่ายเป็นช่วง ๆ อย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ โดยตัวเต็มวัยขนาด 5 เซนติเมตรจะขับถ่ายหนึ่งครั้งในทุกชั่วโมง ส่วนตัวอ่อนจะขับถ่ายทุก 10 นาที


ดร. แทมม์สันนิษฐานว่า การมีรูทวารแบบผลุบโผล่โดยเกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปได้นี้ อาจเป็นขั้นตอนหนึ่งที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเกิดวิวัฒนาการ โดยคาดว่าลักษณะเช่นนี้จะนำไปสู่การสร้างรูทวารแบบถาวรในที่สุด

รายการบล็อกของฉัน