Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

จิ้งจกบ้านเอเชียวิ่งบนผิวน้ำได้เหมือนมีวิชาตัวเบา

จิ้งจกบ้านเอเชียวิ่งบนผิวน้ำได้เหมือนมีวิชาตัวเบา
แม้มันจะว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว แต่การวิ่งบนผิวน้ำจะช่วยให้หนีรอดจากศัตรูได้รวดเร็วกว่ากันมาก
จิ้งจกบ้านพันธุ์หางแบนที่เราคุ้นเคยและพบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นอกจากจะวิ่งบนพื้นราบและปีนป่ายผนังได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษเหนือจิ้งจกตุ๊กแกชนิดอื่น ๆ คือมีวิชาตัวเบาที่ทำให้วิ่งบนผิวน้ำได้อย่างรวดเร็วผิดคาดอีกด้วย

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ของสหรัฐฯ รายงานผลการค้นพบนี้ในวารสาร Current Biology โดยระบุว่าการเคลื่อนไหวของจิ้งจกบ้านเอเชียที่ใช้ขาและฝ่าเท้าตีผิวน้ำอย่างรวดเร็วและทรงพลัง ทำให้เกิดฟองอากาศและช่องว่างเก็บอากาศ (Air pocket) ใต้ผิวน้ำ ที่ช่วยพยุงส่วนลำตัวของมันให้ตั้งตรงพ้นน้ำได้

แม้ตามปกติจิ้งจกชนิดนี้จะสามารถว่ายน้ำได้อยู่แล้ว แต่การวิ่งบนผิวน้ำจะทำให้พวกมันสามารถหลบหนีจากภัยอันตรายได้รวดเร็วกว่ากันมาก โดยสามารถวิ่งเหนือน้ำได้ด้วยความเร็วเกือบ 1 เมตรต่อวินาที ทั้งยังสามารถวิ่งขึ้นบกหรือไต่ผนังต่อไปได้ด้วยความเร็วใกล้เคียงกับขณะที่วิ่งบนน้ำ

ดร. จัสมิน ไนโรดี จากมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ได้ศึกษาเรื่องนี้ขณะที่ยังสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย หลังจากที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งได้ไปเห็นจิ้งจกบ้านที่สิงคโปร์วิ่งบนน้ำในฤดูฝน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้ตามธรรมชาติ

"เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะหากพูดถึงสัตว์ที่วิ่งบนน้ำได้ เรามักจะนึกถึงแมลงตัวเล็ก ๆ หรือไม่ก็กิ้งก่าบาซิลิสก์ (Basilisk lizard) ที่มีฝ่าเท้าขนาดใหญ่ แต่จิ้งจกบ้านที่มีขนาดปานกลางกลับวิ่งบนน้ำได้เช่นกัน" ดร.ไนโรดีกล่าว
ภาพจากกล้องวิดีโอความเร็วสูงแสดงรายละเอียดการเคลื่อนไหว ขณะจิ้งจกบ้านเอเชียวิ่งบนผิวน้ำ
ทีมผู้วิจัยบันทึกภาพวิดีโอความเร็วสูงของจิ้งจกบ้าน 8 ตัว ซึ่งถูกปล่อยให้วิ่งผ่านอ่างน้ำความยาว 35 เซนติเมตร รวมทั้งสิ้น 63 ครั้ง และพบว่าพวกมันสามารถชูส่วนลำตัวให้ตั้งขึ้นพ้นน้ำได้โดยเฉลี่ยถึง 72% แต่ส่วนหางยังสัมผัสกับน้ำอยู่
จิ้งจกบ้านจะใช้สองขาหน้าตีน้ำอย่างรวดเร็วโดยหมุนเป็นวงกลมคล้ายปั่นจักรยาน ทำให้เกิดฟองอากาศที่พยุงลำตัวเอาไว้ ส่วนขาหลังก็มีการเคลื่อนไหวคล้ายกัน ซึ่งจะช่วยส่งแรงผลักให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ นอกจากนี้ จิ้งจกยังมีผิวหนังที่ไม่ซึมซับความเปียกชื้น ทำให้ไม่เกิดแรงหน่วงขณะวิ่งบนน้ำด้วย
"วิธีนี้ไม่ต่างจากการที่รถยนต์ลื่นไถลไปบนท้องถนนที่เปียกน้ำ โดยจิ้งจกบ้านใช้แรงตึงผิวของน้ำให้เป็นประโยชน์ หากมีการเติมสบู่ลงไปในน้ำเพื่อลดแรงตึงผิวลง มันจะยังคงวิ่งบนน้ำต่อไปได้แต่มีความเร็วลดลงราว 50%" ดร.ไนโรดีกล่าว

"กิ้งก่าบาซิลิสก์อาศัยเพียงการตีน้ำเพื่อให้เกิดฟองอากาศพยุงตัว ส่วนจิ้งจกบ้านใช้ทั้งการตีน้ำอย่างรวดเร็วและอาศัยแรงตึงผิวของน้ำเข้าช่วยพร้อมกันไปด้วย"

รายการบล็อกของฉัน