DNAชี้ชัด! "แทสมาเนีย" ไม่ต้องล่าก็ไม่รอด
ผลการศึกษาพันธุกรรมของออสเตรเลียพบ เสือแทสมาเนีย มีแนวโน้มสูญพันธุ์ตั้งแต่ก่อนถูกมนุษย์ค้นพบ
ผลการศึกษาพันธุกรรมของออสเตรเลียพบ เสือแทสมาเนีย มีแนวโน้มสูญพันธุ์ตั้งแต่ก่อนถูกมนุษย์ค้นพบ
ผลการศึกษาพันธุกรรมครั้งล่าสุดของออสเตรเลียชี้ เสือแทสมาเนีย หรือไทลาซีน สัตว์รูปร่างกึ่งสุนัขกึ่งเสือ มีแนวโน้มสูญพันธุ์ตั้งแต่ก่อนถูกมนุษย์ค้นพบแล้ว
แอนดรูว์ พาส์ก ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.เมลเบิร์น ทำการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม หรือจีโนม จากตัวอย่างไทลาซีน อายุ 106 ปี ที่เก็บรักษาในมิวเซียมส์ วิกตอเรีย องค์กรบริหารพิพิธภัณฑ์ของประเทศ และค้นพบว่าสัตว์ชนิดนี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างจำกัด หรือมีสุขภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อ 70,000 ปีที่แล้วด้วยพันธุกรรมของตัวเอง หรือตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์จะค้นพบหรือเริ่มออกล่ามัน โดยคาดว่าเกิดจากปัญหาด้านสภาพอากาศ ณ เวลานั้น
หากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและกินเนื้อในตระกูลจิงโจ้สายพันธุ์นี้ยังสืบเผ่าพันธุ์จนถึงปัจจุบัน ก็น่าจะมีความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่มาก ติดโรคง่าย และอ่อนแอมาก ตามสมมติฐานของผู้ทำการศึกษาครั้งนี้
การศึกษายังสืบค้นไปถึงรูปพรรณสันฐานเพิ่มเติมของไทลาซีนว่า กะโหลกของมันคล้ายคลึงกับสุนัขป่าเทา และสุนัขจิ้งจอกแดง แม้ว่าพวกมันทั้งหมดจะไม่ได้สืบสายบรรพบุรุษเดียวกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์เลย
ซึ่งทางชีววิทยาเรียกว่าวิวัฒนาการเบนเข้า คือการวิวัฒนาการที่สิ่งมีชีวิตไม่ได้มีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่มีลักษณะวิวัฒนาการได้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน
ภาพ เอเอฟพี