เหี้ยดำ (อังกฤษ: Black water monitor, Black dragon) เดิมแยกเป็นชนิดย่อยซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Varanus salvator komaini ปัจจุบัน (ค.ศ. 2007) ถูกยุบรวมเป็นชื่อพ้องของเหี้ยชนิดย่อย Varanus salvator macromaculatus มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับเหี้ยทั่วไป เมื่อโตเต็มวัยจากปลายหัวถึงโคนหาง 9 ฟุต สีดำด้านทั้งตัว บางตัวก็มีจุดและลายแทรกอยู่บ้าง
แต่ลายจะจาง ท้องสีเทา ลิ้นสีน้ำเงินเข้ม จากการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเหี้ยและเหี้ยดำ พบว่าค่าสัดส่วนของลักษณะส่วนมากไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำผลการศึกษาด้วยการวิเคราะห์จำแนกกลุ่มแบบคาโนนิคอล (canonical discriminant analysis)
มาพิจารณาสรุปได้ว่า เหี้ยดำไม่สามารถแยกออกเป็นชนิดใหม่หรือชนิดย่อยของเหี้ยได้ (Lauprasert, 1999) และลักษณะของสีที่แตกต่างเกิดจากภาวะการมีเม็ดสีเมลานินสีดำมากเกินไป (melanism) ของชนิดย่อย V. s. macromaculatus
เหี้ยดำพบบริเวณชายทะเลหรือป่าชายเลนและบนเกาะ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย โดยสถานที่ค้นพบครั้งแรกคืออำเภอละงู จังหวัดสตูล และสถานที่ที่พบเหี้ยดำจะไม่พบเหี้ยเลย ในประเทศไทยหายาก และมีรายงานพบทางประเทศมาเลเซีย บริเวณ ปีนัง และ อินโดนีเซีย บริเวณลัมปุง และบางหมู่เกาะทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย
ปัจจุบัน เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ CITES2