ตะกอง หรือ ลั้ง หรือ กิ้งก่ายักษ์ ( Chinese water dragon) ชื่อวิทยาศาสตร์: Physignathus cocincinus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ในวงศ์กิ้งก่า (Agamidae) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย มีรูปร่างทั่วไปคล้ายอีกัวน่าที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร โดยตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ และจะมีหัวป้อมกว่า สีของลำตัวเข้มกว่า หางมีแถบสีดำเป็นปล้อง ๆ สีลำตัวปกติของตะกองจะมีสีเขียวเข้มและสามารถที่จะเปลี่ยนสีของให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามสภาพแวดล้อมได้ ในขณะที่เป็นวัยอ่อนบางตัวใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้าแลดูสวยงาม และเมื่อโตขึ้นมาตัวผู้ส่วนหัวด้านบนจะโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวผู้เมียจะมีความนูนน้อยกว่า
ตะกอง มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าดิบในตอนใต้ของประเทศจีน, ประเทศลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และภาคตะวันออกและอีสานของประเทศไทย ชอบที่จะอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีสภาพป่าที่ค่อนข้างทึบ เช่น บริเวณริมห้วยที่มีน้ำไหล
มีพฤติกรรมชอบนอนผึ่งแดดตามคาคบไม้ริมห้วยลำธาร เมื่อตกใจจะวิ่ง 2 ขาได้โดยหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว และโดยปกติเมื่อมีภัยจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานาน อาหารได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ, กบ, เขียด, ปลาขนาดเล็ก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก และผลไม้บางชนิด และยังสามารถดำน้ำจับปลาได้อีกด้วย ในที่สถานที่เลี้ยงพบว่ามีอายุถึง 30 ปี
ตะกองจะมีฤดูกาลผสมพันธุ์และวางไข่ในระหว่าง เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และในหนึ่งครั้งตะกองตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 10 ฟอง ตะกองจะวางไข่ บริเวณพื้นดินที่มีลักษณะเป็นดินทรายและจะขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 12-17 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร
สถานภาพของตะกองในปัจจุบัน พบน้อยลงมากเนื่องจากถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยง จับเพื่อทำเป็นอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ได้จัดให้ตะกองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
Chinese water dragon