อย่างที่เรารู้กันว่าเต่าในทุกวันนี้ใช้กระดองของมันเพื่อป้องกันอันตรายจากนักล่า แต่ไม่มีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นที่ปรับเปลี่ยนร่างกายของมันให้มีเกราะที่แข็งแกร่งเหมือนเต่าเลย อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยใหม่โดยกลุ่มของนักบรรพชีวินวิทยาชี้ให้เห็นว่ากระดองเต่าดั้งเดิมที่มาจากการขยายกระดูกซี่โครงไม่ใช่เป็นการปรับตัวเพื่อป้องกันภัยแต่เพื่อการขุดโพรงใต้ดิน Tyler Lyson นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์เดนเวอร์ เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยให้มีการค้นพบครั้งนี้
“กระดองเต่าพัฒนาขึ้นมาเพื่ออะไร? เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้ว และคำตอบก็ดูเหมือนจะชัดเจนว่าเพื่อการป้องกันตัว” Lyson กล่าว “แต่มันก็เหมือนกับขนนกที่ไม่ได้เริ่มต้นพัฒนาขึ้นสำหรับการบิน จุดเริ่มแรกของกระดองเต่าไม่ได้ใช้สำหรับการป้องกันตัว แต่สำหรับการขุดโพรงใต้ดินเพื่อหลบหนีความรุนแรงของสภาพแวดล้อมในแอฟริกาใต้ที่เต่ายุคแรกเริ่มอาศัยอยู่”
การปรับตัวเพื่อการขุดดินยังช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนไหวของเต่าในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำในช่วงต้นของประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และอาจจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เต่ายุคเริ่มแรกอยู่รอดผ่านเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Permian-Triassic extinction)
หลักฐานจากฟอสซิลและการสังเกตพัฒนาการของกระดองเต่าแสดงให้เห็นว่าหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่สำคัญคือการขยายกระดูกซี่โครง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนทั้งการหายใจและความเร็วของเต่า กระดูกซี่โครงของปลาวาฬ งู ไดโนเสาร์ มนุษย์ และสัตว์อื่นๆจะมีลักษณะเดียวกัน ยกเว้นเต่าที่พวกมันปรับเปลี่ยนอย่างมากเพื่อสร้างเป็นกระดอง
Lyson และเพื่อนร่วมงานสามารถที่จะค้นพบความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของกระดองเต่าได้นั้น ต้องขอบคุณการค้นพบฟอลซิลอายุ 260 ล้านปีของเต่ายุคเริ่มแรกหลายชิ้น โดยเฉพาะชิ้นที่สำคัญที่สุดที่พบโดยเด็กผู้ชายอายุแปดปี ซึ่งมีความยาวประมาณ 15 ซม. ประกอบด้วยโครงกระดูกที่ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี มีมือและเท้าครบถ้วน ช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์รายละเอียดและหาข้อสรุปได้
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเริ่มต้นขยายกระดูกซี่โครงเป็นการปรับตัวเพื่อตอบสนองการขุดโพรง เต่าจะมีฐานที่มั่นคงช่วยให้การทำงานของแขนขาในการขุดทรงพลังและมีประสิทธิภาพ
Tyler Lyson